สำหรับสัตว์รูปร่างหน้าตาประหลาดที่ อช.ภูหินร่องกล้า เป็นสัตว์ประเภทตุ๊กแก คนในพื้นที่ได้ยืนยันว่า ตามที่เคยพบสัตว์ชนิดนี้ก็มีเพียงแต่กิ่งก่าที่บินได้เท่านั้น แต่ที่พบในครั้งนี้ที่ว่าสัตว์ประหลาด คือ ตุ๊กแกบินได้เป็นครั้งแรก โดยมีปีกทั้งสองข้าง คือ เนื้อหนังจากลำตัวแผ่ออกไปจนถึงขาทั้งสี่ขา สองข้าง เวลาบินจะใช้ขาสี่ขาเป็นอุปกรณ์เพื่อกางเป็นปีก ร่อนไปมาระหว่างต้นไม้ จากการสังเกตที่หัวเป็นหัวตุ๊กแก และเท้าเป็นเท้าตุ๊กแก ไม่ใช่เท้ากิ่งก่า ส่วนหางมีรูปร่างแบนเป็นหยักคล้ายใบเลื่อย คลาดว่าสัตว์ประเภทนี้คงได้พัฒนากายภาพให้เข้ากับธรรมชาติ ในการบินจะคล้ายกับตัวบ่าง โดยอาศัยบนต้นไม้สูงแล้วทำการร่อนไปอีกต้นถัดไป
นายมนัส สีเสือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์อช.ภูหินร่องกล้า ระบุว่า ผู้ที่พบตุ๊กแกบินได้ คือ นายดอนชัย ทองหงำ เจ้าหน้าที่เวรรักษาการ ขณะออกตรวจตรารักษาความปลอดภัยบริเวณลานกางเต็นท์ ก็พบเจ้าตุ๊กแกตัวดังกล่าวอยู่ที่บริเวณพื้นดิน จึงจับมาเก็บไว้ เพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อน โดยเฉพาะที่ภูหินร่องกล้านั้น ส่วนใหญ่แล้ว จะพบแต่กิ้งก่าบินได้ ต่อมา นายอดิษร ขันวิชัย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ จึงนำมาเลี้ยงไว้เพื่อทำการศึกษา เนื่องจากเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ยาก ก่อนจะเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป
จากการสืบค้นข้อมูลและรูปภาพจาก จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี พบว่า ตุ๊กแกบินที่จับได้ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้านั้น เป็น ตุ๊กแกบินหางแผ่น (อังกฤษ: Kuhl′s flying gecko; ชื่อวิทยาศาสตร์: Ptychozoon kuhli) เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งจำพวกตุ๊กแก มีรูปร่างคล้ายจิ้งจกบ้านทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีลำตัวยาวประมาณ 9.5 เซนติเมตร หางยาว 9.5 เซนติเมตร มีพังผืดยึดระหว่างนิ้วเท้า ใต้เท้ามีแผ่นยึดเกาะเรียงเป็นแถวเดี่ยว ปลายนิ้วมีเล็บ มีแผ่นหนังแผ่กว้างออกมาจากข้างแก้มและลำตัวทำหน้าที่เหมือนปีกเครื่องร่อน หางแบนขอบหางหยัก ปลายหางแผ่เป็นแผ่นกว้างขอบเรียบและกว้างกว่าหาง ส่วนที่เป็นหยัก สันหางมีตุ่ม ลำตัวสีน้ำตาลหรือเทา มีแถบเข้มพาดขวางบนหลัง 4 แถบ หางมีลายพาด พบในป่าดิบในภาคใต้ของไทย ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช , จังหวัดปัตตานี พบได้จนถึงภาคเหนือของมาเลเซียจนถึงสิงคโปร์ , หมู่เกาะนิโคบาร์ในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่ติดกับพม่าด้วย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 แต่ก็นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลานเช่นเดียวกับตุ๊กแกบินหางเฟิน (P. lionotum) ซึ่งเป็นตุ๊กแกในสกุลเดียวกันด้วย